Translate

ความสับสนของเฟินใบมะขามบริพัตร


“เฟินใบมะขามบริพัตร” เป็นเฟินที่แพร่หลายในตลาดไม้ประดับมานานหลายปี เมื่อครั้งที่เรารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเฟินสกุลใบมะขาม พอค้นคว้าลึกลงไปกลับพบว่าคำบรรยายทางพฤกษศาสตร์ไม่ตรงกับลักษณะเฟินที่แพร่หลายอยู่ โดยอ้างอิงจากหนังสือ เฟิน สำหรับคนรักเฟินและผู้ปลูกมืออาชีพ ของอาจารย์หม่อมหลวงจารุพันธ์ ทองแถม ซึ่งตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2536 เล่มนี้เป็นคู่มือหลักเมื่อครั้งที่เราเพิ่งเริ่มเล่นเฟินเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว มาดูกันนะคะ

เฟินใบมะขามบริพัตร (Nephrolepis falcata)
ข้อมูลในหนังสือระบุว่า เฟินชนิดนี้มีใบยาว 80 ซ.ม.* กว้าง 15 ซ.ม. ใบย่อยเกิดได้ถึง 50 คู่หรือมากกว่า ใบย่อยตอนกลางก้านใบห่างกัน 1.5-2 ซ.ม. ปลายใบย่อยแหลมโค้ง การเรียงตัวเป็นระยะสวยงามมาก พบทุกภาคของประเทศไทย แต่ผู้เขียน (อาจารย์หม่อม) พบครั้งแรกตามพื้นหินในป่าบริเวณน้ำตกบริพัตร จังหวัดสงขลา จึงตั้งชื่อตามสถานที่พบ
จากคำบรรยายดังกล่าว เราพบว่าคือลักษณะของเฟินในภาพค่ะ

ถ้าอย่างนั้นเฟินที่เราจำชื่อผิดกันมาตั้งนานคือเฟินอะไร ?
พอไล่ดูคำบรรยายเฟินใบมะขามชนิดอื่นๆ แล้ว ดูเหมือนว่าจะใกล้เคียงเฟินชนิดนี้มากที่สุด

เฟินใบมะขามใบเสี้ยว (Nephrolepis acutifolia)
ข้อมูลในหนังสือระบุว่า เฟินชนิดนี้มีใบแคบยาวคล้ายรูปหอก ยาว 75 ซ.ม.* กว้าง 15 ซ.ม. มีใบย่อยประมาณ 50 คู่ เรียงตัวห่างกัน 1-2 ซ.ม. ใบย่อยไม่มีก้าน มีลักษณะเป็นเสี้ยวที่โคนและปลายใบ ขอบใบเรียบ ไม่ค่อยเห็นเส้นใบ บนผิวใบมักเห็นจุดขาว พบทั่วไปในประเทศไทย ชอบขึ้นตามพื้นป่า ผาหิน หรือคาคบไม้ในระดับต่ำ

จุดขาวคือ รูหยาดน้ำ (Hydathode) ที่ช่วยขับถ่ายของเสีย

* ความยาวของใบขึ้นอยู่กับปัจจัยแปรผันหลายประการ

            แล้วความสับสนเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
              เมื่อเปิดหนังสือไปดูภาพประกอบจึงพบว่า ภาพที่ 131 และ 132 ซึ่งระบุชื่อเฟินใบมะขามบริพัตร ดูแล้วภาพบนขวา (131) น่าจะเป็นเฟินใบมะขามใบเสี้ยวมากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งสองภาพมีขนาดเล็กและถ่ายระยะไกล ยากที่จะระบุได้ชัดเจน

            เพื่อความแน่ใจเราจึงค้นคว้าเพิ่มเติมจากหนังสือ Pteridophytes in Thailand ของ ศ.ดร.ทวีศักดิ์ บุญเกิด ในหน้า 175 มีภาพ Nephrolepis falcata ซึ่งเห็นใบย่อยแหลมโค้ง ตรงตามคำบรรยายเป๊ะ!


            หนังสืออ้างอิงอีกเล่มที่เราใช้ คือ Ferns เขียนโดยอาจารย์หม่อมและ ดร.ปิยเกษตร สุขสถาน ในเล่มนี้ Nephrolepis acutifolia ให้ชื่อว่า “เฟินใบมะขามสตูล หรือเฟินใบมะขามชายธง” มีคำบรรยายลักษณะสำคัญเพิ่มเติมว่า ส่วนของซอไรและอินดูเซียมักจะเกิดเป็นแนวยาวที่ขอบใบคล้ายอินดูเซียในเฟินสกุล Pteris และ หากเติบโตสมบูรณ์อาจให้ใบยาวถึง 1.5 เมตร
ซอไรที่แตกต่างจากเฟินใบมะขามส่วนมากซึ่งเป็นเม็ดกลม

ลักษณะเด่นอีกอย่างหนึ่งคือ มีขนขาวปกคลุมผิวใบ ซึ่งจะบางลงเมื่อใบแก่

Nephrolepis acutifolia ที่เราแขวนไว้ใต้ต้นหูกระจงหน้าสวน
จะผลิใบยาวมากในฤดูฝนซึ่งมีความชุ่มชื้นสูงและหูกระจงมีใบดกร่มครึ้ม
แต่ใบจะหดสั้นลงเมื่อถึงฤดูแล้งซึ่งหูกระจงผลัดใบ ทำให้ได้รับแสงแดดมาก


ส่วน Nephrolepis falcata  ให้ชื่อว่า “กูดหิน หรือเฟินใบมะขามบริพัตร” สำหรับภาพประกอบทั้งสองชนิดตรงตามคำบรรยายลักษณะทางพฤกษศาสตร์


นอกจากการค้นคว้าจากหนังสือต่างๆ แล้ว ในครั้งที่เราได้ไปเยี่ยมชมสวนของพี่เซะ (พูนศักดิ์ วัชรากร) จึงถือโอกาสถามถึง “เฟินใบมะขามบริพัตรตัวจริง” ซึ่งก่อนหน้านั้นถามใครก็ไม่มีใครรู้เลย ปรากฏว่าพี่เซะยิ้มแป้นแล้วพาเราไปดูเฟินที่ปลูกลงแปลงประดับสวนหน้าบ้าน ทั้งนี้เพราะแกเองก็รู้เรื่องความสับสนของชื่อเฟินดังกล่าวมานานแล้ว
เฟินใบมะขามบริพัตรที่ปลูกลงแปลงหน้าบ้านพี่เซะ

ซอไรของเฟินใบมะขามบริพัตรเป็นเม็ดกลม

อย่างไรก็ตาม ชื่อ “เฟินใบมะขามบริพัตร” ที่เรียกกันจนติดปากนั้นยากที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข คงไม่มีใครอยากเปลี่ยนไปเรียกว่า “เฟินใบเสี้ยว หรือเฟินชายธง” สำหรับเราเมื่อพูดถึง Nephrolepis acutifolia ก็จะเรียกว่า “บริพัตรตัวปลอม” แทน

สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึง “อิทธิพลของสื่อที่มีผลต่อการรับรู้” อย่างชัดเจน นี่คือเหตุผลว่าทำไมจึงควรให้ความสำคัญกับการผลิตหนังสืออย่างมีคุณภาพ (เชื่อว่าหากมีการพิมพ์ซ้ำ ข้อผิดพลาดดังกล่าวต้องได้รับการแก้ไขแน่นอน) ที่ผ่านมาหนังสือของเราทุกเล่มมีข้อผิดพลาดในเรื่องคำบรรยายภาพกับรูปที่ไม่ตรงกัน “ปลูกเฟินอย่างมืออาชีพ” มีค่อนข้างมาก ทั้งนี้เพราะเป็นหนังสือเล่มแรกที่ทำงานร่วมกับสำนักพิมพ์ เราจึงเกรงใจไม่กล้าก้าวก่ายในขั้นตอนการผลิต (หารู้ไม่ว่าความจริงทางสำนักพิมพ์อยากให้เราช่วยตรวจทาน เพราะไม่มีใครรู้เรื่องภาพประกอบดีไปกว่าคนเขียน!) เล่มต่อมา “พืชกินแมลง” ปกแข็งมีที่ผิดแค่ 2-3 แห่ง โชคดีที่พิมพ์ซ้ำครั้งที่สองเร็ว จึงมีโอกาสแก้ไขทันท่วงที
สำหรับเล่มล่าสุด “เฟินชายผ้าสีดา” เท่าที่ได้ทราบจากผู้อ่านมีที่ผิดแค่แห่งเดียวคือ หน้า 55 เรื่อง P. holttumii แต่ลงรูปผิดเป็น P. wallichii (รูปขวาสุด) ทั้งนี้เพราะมีการเปลี่ยนรูปในปรู๊ฟสุดท้ายซึ่งเราไม่ได้ดูซ้ำ

เรื่องเล่านี้หวังเพียงให้ความกระจ่างแก่คนรักเฟิน แต่จากนี้ไปจะเรียกชื่อกันอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับความพึงพอใจเท่านั้นเองค่ะ

2 ความคิดเห็น:

  1. ขอบพระคุณมากครับสำหรับความรู้

    ตอบลบ