Translate

ที่มาของหนังสือ "พืชกินแมลง"

หลายคนคงสงสัยว่าจากการเริ่มต้นที่ "เฟิน" แล้วย้ายมาสู่ "พืชกินแมลง" ได้อย่างไร ?

ในยุคเฟื่องฟูของหม้อข้าวหม้อแกงลิงเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2550 ตอนนั้นพืชชนิดนี้ค่อนข้างใหม่ในวงการไม้ประดับไทย แต่กระแสความนิยมแรงและเร็วมาก และฉันเคยได้ยินมาว่ามีคนกำลังเขียนเรื่องพืชกินแมลงอยู่ แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่มีหนังสือออกมาซักที ในที่สุดจึงมีผู้แนะนำให้ฉันเขียนหนังสือเกี่ยวกับพืชชนิดนี้

สำหรับฉันเองนั้น ตอนแรกไม่มีความสนใจพืชกินแมลงเลยซักนิด แต่เมื่อจะเขียนจึงจำเป็นต้องศึกษาหาข้อมูลอย่างละเอียด ซึ่งทำให้เริ่มชอบพืชชนิดนี้ขึ้นมาบ้าง ข้อมูลส่วนมากในหนังสือมาจากประสบการณ์ที่ได้ปลูกเลี้ยงเอง และจากการพูดคุยกับนักสะสมท่านอื่นๆ ส่วนภาคทฤษฎีต้องค้นคว้าจากหนังสืออ้างอิงของต่างประเทศซึ่งมีอยู่หลายเล่ม

ถามว่าทำไมไม่ค้นคว้าจากหนังสือไทย?
นั่นก็เพราะหนังสือวิชาการเกี่ยวกับพืชกินแมลงของไทยหาแทบไม่ได้เลย เพราะยังไม่เคยมีใครทำการศึกษาอย่างจริงจัง ส่วนหนังสือในแง่ไม้ประดับนั้นถ้าเสร็จตรงตามเป้าหมายจะนับได้ว่าหนังสือของฉันเป็นเล่มแรกในเมืองไทยเลยทีเดียว

แต่ "พืชกินแมลง" เขียนยากกว่า "ปลูกเฟินอย่างมืออาชีพ" มาก เพราะเป็นหนังสือกึ่งวิชาการ โดยเฉพาะสำหรับนักเขียนที่ไม่เคยเรียนวิชาพฤกษศาสตร์มาก่อนเลยในชีวิต! แต่ในที่สุดฉันก็สามารถปิดต้นฉบับลงได้ด้วยความช่วยเหลือจากนักวิชาการหลายท่าน ทั้งในเรื่องข้อมูลและความถูกต้องตามหลักสากล

แม้ว่าหนังสือเล่มนี้จะออกล่าช้ากว่ากำหนดเดิมมาก แต่รางวัลอันแสนหวานสำหรับความพยายามก็คือการพิมพ์ซ้ำครั้งที่ 2 ภายในเวลาไม่กี่เดือน และอีกไม่นาน "มือใหม่หัดปลูกพืชกินแมลง" ก็จะออกมาเป็นกองหนุนสำหรับผู้อ่านที่นิยมงานเขียนแบบสบายๆ สไตล์ "มือใหม่หัดปลูก" ของสำนักพิมพ์บ้านและสวน

ตัวอย่างในเล่ม "พืชกินแมลง"












1 ความคิดเห็น:

  1. สนใจหนังสือเล่มนี้ค่ะ... อยากซื้อมากๆ ค่ะ ที่ซื้อเพราะลูกสาวสนใจ ไม่ทราบยังมีจำหน่ายอยู่มั้ยคะ

    ตอบลบ