Translate

คนอยู่-ป่ายัง บทเรียนล้ำค่าจากหยาดเหงื่อและน้ำตาที่บ้านคลองเรือ

เมื่อเอ่ยถึง “บ้านคลองเรือ” คุณนึกถึงอะไร…
สำหรับบางคน อาจเห็นภาพบัวผุด - ดอกไม้ยักษ์แสนพิสดาร ภาพทริปเดินป่าล่องแพอันน่าระทึกใจ  ภาพหนุ่มสาวแหวกว่ายในสายน้ำเย็นฉ่ำที่หลั่งไหลทะลักทลายลงมาจากน้ำตกเหวตาจันทร์ - แหล่งน้ำสำคัญแห่งป่าต้นน้ำพะโต๊ะ รวมถึงภาพการร่วมเรียนรู้วิถีชีวิตพอเพียงไปพร้อมๆ กับชาวบ้าน… แน่ล่ะ ก็เพราะสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็น “จุดขาย” ของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศโฮมสเตย์หมู่บ้านคลองเรือ ซึ่งไม่ว่าคุณจะกูเกิ้ลคำว่า “บ้านคลองเรือ” สักกี่ครั้ง ก็มักจะพบข้อมูลในแง่มุมของการท่องเที่ยวปรากฏอยู่อันดับต้นๆ เสมอ

ภาพจาก www.klongrua.com

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ชุมชนบ้านคลองเรือยังมีเรื่องราวเร้าใจอื่นๆ อีกมากมาย เนื่องจากคนที่นี่ล้วนผ่านสมรภูมิชีวิตกันมาอย่างโชกโชน จนสามารถตกผลึกจิตวิญญาณ บ่มเพาะประสบการณ์ กลั่นสู่ความเป็นชุมชนเข้มแข็ง พึ่งตนเองตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างสมบูรณ์ และยังเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่นๆ ได้เข้ามาเรียนรู้เพื่อนำไปปรับใช้ตามวิถีทาง แต่กว่าที่คนคลองเรือจะก้าวมาถึงวันนี้ได้อย่างสง่างาม พร้อมรางวัลเกียรติยศการันตีจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนไม่ใช่เรื่องง่าย... บนเส้นทางกว่า 35 ปีนับจากก่อตั้งชุมชน เรื่องราวการต่อสู้ของพวกเขาสามารถบันทึกเป็นนิยายชีวิตได้เล่มใหญ่เลยทีเดียว


ป่าต้นน้ำอันอุดมสมบูรณ์

บ้านคลองเรือเป็น 1 ใน 9 หมู่บ้านของตำบลปากทรง อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร ซึ่งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำหลังสวนตอนบน มีสภาพเป็นป่าดิบชื้นบนภูเขาสลับซับซ้อน มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มั่งคั่งด้วยทรัพยากรธรรมชาติ แต่ด้วยสภาพแวดล้อมที่เป็นป่าทึบทุรกันดาร ทำให้ในอดีตมีการตั้งถิ่นฐานของประชากรไม่มากนัก จนกระทั่งปี พ.ศ. 2500 เมื่อรัฐเปิดสัมปทานให้บริษัทเอกชนเข้าทำเหมืองแร่ดีบุก จึงเกิดการหลั่งไหลของแรงงานต่างถิ่นจากทั่วประเทศ และเริ่มตั้งถิ่นฐานกันอย่างถาวร มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาพื้นบ้าน ซึ่งนำมาปรับใช้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างกลมกลืนและกลมเกลียว



ลุงละเมียด สวัสดิ์ภักดี พ่อเฒ่าวัย 77 ปี ผู้ยังแข็งแรงกระชุ่มกระชวย และยังคงฉายความ “แกร่ง” ผ่านสีหน้าและแววตา คือหนึ่งในผู้บุกเบิกบ้านคลองเรือ แกอพยพมาที่นี่เมื่อปี พ.ศ. 2518 หักล้างถางพงตั้งบ้านอยู่ริมคลองเรือและยึดอาชีพร่อนแร่ดีบุก หลังจากหมดยุคเหมืองแร่ ลุงเมียดจึงหันไปแผ้วถางป่าเพื่อทำไร่ ปลูกข้าว กาแฟ ทำสวนผลไม้ และชักชวนญาติพี่น้อง ตลอดจนคนต่างถิ่นให้เข้ามาตั้งรกรากมากขึ้น ประกอบกับในระยะนั้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมุ่งเน้นการผลิตเพื่อส่งออก  มีการส่งเสริมให้ปลูกพืชเชิงเดี่ยวกันอย่างครึกโครม พืชที่นิยมปลูกได้แก่ กาแฟ ปาล์มน้ำมัน ทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ฯลฯ ชาวบ้านจึงละทิ้งภูมิปัญญาพื้นบ้านในการทำการเกษตรแบบผสมผสานที่เรียกว่า “สวนพ่อเฒ่า” ผลกระทบที่ตามมาคือการใช้สารเคมีในการเกษตรปริมาณมหาศาล



กาแฟพันธุ์โรบัสต้าที่จะพร้อมเก็บเกี่ยวประมาณเดือนธันวาคม

ช่วงที่มีคนอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านคลองเรือมากที่สุดคือระหว่างปี พ.ศ. 2528-2531 ซึ่งเป็นช่วงที่รัฐให้สัมปทานป่าไม้แก่บริษัทเอกชน ทำให้เกิดการบุกรุกทำลายป่าอย่างรุนแรงในพื้นที่พะโต๊ะ ยิ่งกว่านั้นในปี พ.ศ. 2531 ราคากาแฟถีบตัวสูงขึ้นถึงกิโลกรัมละ 120 บาท จึงเป็นเหตุจูงใจให้คนต่างถิ่นเข้ามาหักล้างถางพงมากขึ้นเพื่อทำไร่กาแฟ ส่งผลให้พื้นที่ป่าเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว

ระหว่างทางในอำเภอพะโต๊ะ ก่อนถึงบ้านคลองเรือ
เขาบางลูกกลายเป็นสวนปาล์มน้ำมันไปเสียแล้ว

บ้านคลองเรือนั้นเปรียบเสมือน “หัวใจ” ของอำเภอพะโต๊ะ เนื่องจากเป็นชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าต้นน้ำ ดังนั้นทุกกิจกรรมที่เกิดจากการกระทำของชาวบ้านย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศ และส่งแรงสะเทือนยาวไกลไปจนถึงชุมชนปลายน้ำ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน เช่นกรณีที่ชุมชนต้นน้ำใช้สารเคมีในการเกษตรจนสะสมพิษตกค้างตามแหล่งน้ำ คงยากที่ชุมชนตลอดสายน้ำจะใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคได้อย่างปลอดภัย


ลำธารสายหนึ่งที่ไหลผ่านบ้านคลองเรือ

ในเวลาไม่นานหลังจากนั้น คนคลองเรือก็เริ่มตระหนักถึงปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้าเข้ามาอย่างไม่ทันตั้งตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราคาผลผลิตกาแฟตกต่ำจนถึงขั้นวิกฤติ ผลกระทบจากการบุกรุกทำลายป่า ทำให้ทรัพยากรน้ำที่เคยมีใช้เหลือเฟือกลับลดน้อยลงจนเกิดการแย่งชิงกัน อีกทั้งต้องเผชิญปัญหาด้านคุณภาพของน้ำกินน้ำใช้ เนื่องจากมีการชะล้างสารเคมีและตะกอนดินจากการเกษตรลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ ทำให้น้ำเสียและสัตว์น้ำตาย สุดท้ายปัญหาสากลอันหนักหน่วงก็คือ การกู้หนี้ยืมสินเพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้


แหล่งน้ำใสสะอาด ณ บ้านคลองเรือในปัจจุบัน

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2536 นายพงศา ชูแนม หัวหน้าหน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำพะโต๊ะ (สังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช) ซึ่งเฝ้าติดตามสถานการณ์มาโดยตลอด เล็งเห็นว่าหากยังปล่อยให้มีการบุกรุกทำลายป่าต่อไป ปัญหาการจัดการทรัพยากรและคุณภาพชีวิตของชาวบ้านจะยืดเยื้อเรื้อรังจนยากที่จะเยียวยา จึงริเริ่มโครงการ “คนอยู่-ป่ายัง” ขึ้น โดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการคิด ทำ และตัดสินใจ ตามแนวคิดที่ว่าการสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างชุมชนต่อชุมชน และชุมชนต่อเจ้าหน้าที่ จะช่วยให้การดูแลรักษาป่ามีประสิทธิภาพมากขึ้น


น้ำตกเหวตาจันทร์ แหล่งน้ำสำคัญในป่าต้นน้ำ

โครงการ “คนอยู่-ป่ายัง” ดำเนินการในลักษณะวนศาสตร์ชุมชน อันเป็นแนวพระราชดำริในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน เพื่อสร้างความมั่นคงด้านเศรษฐกิจแก่ชุมชนภายใต้กรอบการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีการจัดการ การใช้ประโยชน์ และปกป้องรักษาทรัพยากร โดยผสมผสานภูมิปัญญาชาวบ้านและเทคโนโลยีอย่างเหมาะสม มีการตั้งเวทีชาวบ้านเพื่อระดมสมองแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการแก้ไขปัญหา กำหนดกติกาชุมชนสำหรับใช้ในการจัดการทรัพยากรและชุมชน เพื่อให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ส่งเสริมคุณภาพชีวิตทั้งด้านการศึกษา โครงสร้างพื้นฐาน และวัฒนธรรม ฯลฯ กิจกรรมซึ่งต่อยอดจากโครงการ “คนอยู่-ป่ายัง” อันก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม ณ บ้านคลองเรือ อาทิ


นายชัยรัตน์ แว่นแก้ว ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน
ผู้ริเริ่มแนวคิดการเกษตร 4 ชั้น นำชมสวนเกษตรแบบผสมผสาน

การส่งเสริมการเกษตรเชิงอนุรักษ์ ชาวบ้านหันกลับสู่ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการทำการเกษตรแบบผสมผสาน เป็นที่มาของโครงการ “การเกษตร 4 ชั้น” ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างสังคมพืชที่หลากหลายให้อยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน ทำให้ใช้ประโยชน์จากที่ดินได้อย่างเต็มที่ สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ตลอดทั้งปี ชาวบ้านมีความมั่นคงของรายได้ และยุติการใช้สารเคมีในการเกษตรอย่างสิ้นเชิง

กาแฟ ทุเรียน ปาล์มน้ำมัน และพรรณไม้อื่นๆ
ปลูกรวมกันในสวนเกษตรแบบผสมผสาน

การลาดตระเวนดูแลรักษาป่าและป้องกันไฟป่า โดยการร่วมแรงร่วมใจประสานงานระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทำให้การรักษาป่ากลายเป็นเรื่องง่ายกว่าที่ผ่านมา ตามแนวคิดของหัวหน้าพงศาที่ว่า “การรักษาป่าไม่ใช่การดูแลป่า ไม่ให้คนทำลาย แต่เป็นการดูแลคน ไม่ให้ทำลายป่า”



ลุงเมียดนำชมบ้านพักโฮมสเตย์ของแก

การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โฮมสเตย์บ้านคลองเรือ เพื่อให้ชาวบ้านใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่ช่วยกันอนุรักษ์ไว้ สร้างรายได้ให้ชุมชน ปลูกจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างยั่งยืน และสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างคนเมืองกับคนชนบท



การจัดตั้งธนาคารต้นไม้ นับเป็นสาขาแรกของประเทศไทย ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกต้นไม้ที่มีมูลค่าของเนื้อไม้ในที่ดินของตนเอง แล้วขึ้นทะเบียนไว้กับธนาคารต้นไม้ มูลค่าต้นไม้ดังกล่าวถือเป็นทรัพย์สินหรือทุนซึ่งใช้ชำระหนี้เกษตรกรได้ ช่วยแก้ปัญหาหนี้สินของชาวบ้าน และยังเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ป่าต้นน้ำอีกด้วย


ฝายชะลอน้ำที่ชาวบ้านคลองเรือช่วยกันสร้างในป่าต้นน้ำ

การก่อสร้างฝายชะลอน้ำตามลำห้วยต่างๆ ทำให้พื้นที่ป่ากลับมาชุ่มชื้นอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง เกิดแนวป้องกันไฟป่า  มีแหล่งน้ำมากพอสำหรับการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตรผ่าน “ประปาภูเขา” และนำมาซึ่งโครงการ “โรงไฟฟ้าพลังน้ำชุมชน” ที่บ้านคลองเรือกำลังจะมีใช้ในอีกไม่นาน



โรงไฟฟ้าพลังน้ำชุมชนซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก กฟผ.
อยู่ระหว่างการก่อสร้างด้วยแรงงานของชาวบ้านล้วนๆ

โครงการคนอยู่-ป่ายัง นับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญยิ่งของชุมชนบ้านคลองเรือ เนื่องจากพลิกประวัติศาสตร์ของกลุ่มคนที่เข้าบุกรุกทำลายป่าเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน มาเป็นชุมชนอนุรักษ์ป่าต้นน้ำ มีผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์แก่สังคมมากมาย แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากความร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านในชุมชนเอง เพราะคนคลองเรือเต็มเปี่ยมด้วยความสามัคคี เสียสละ และมีจิตใจอันเข้มแข็ง  พวกเขาจึงสามารถแปรบทเรียนจากความผิดพลาดในอดีตเป็นพลังให้ลุกขึ้นสู้ ก้าวย่างสู่ความเป็น “ชุมชนเข้มแข็ง พึ่งตนเองตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ได้อย่างสง่างามเต็มภาคภูมิ!


ผู้ใหญ่บ้านมนัส คล้ายรุ่ง รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวด
การจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ครั้งที่ 4

รางวัลเกียรติยศต่างๆ ของชุมชนบ้านคลองเรือ
  • ได้รับพระราชทาน “ธงพิทักษ์ป่าเพื่อรักษาชีวิต” จากสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อปี พ.ศ. 2541 ในฐานะหมู่บ้านรักษาป่ายอดเยี่ยม
  • รางวัลยอดเยี่ยม The 6th Thailand Tourism Awards 2006 ประเภทแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
  • ได้รับพระราชทานรางวัล หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง อยู่เย็นเป็นสุข เมื่อปี พ.ศ. 2550 จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  • ได้รับคัดเลือกเป็น ตำบลเขียวขจีดีเด่น เมื่อปี พ.ศ. 2550 จากมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์
  • ได้รับคัดเลือกเป็นหนึ่งใน มาตรฐานโฮมสเตย์ไทย ปี 2550-2552 จากสำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
  • ได้รับคัดเลือกเป็น ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียง จากจังหวัดชุมพร เมื่อปี พ.ศ. 2552
  • ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวดการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น