Translate

สุขใจในสวน (ป่า) ณ บ้านคลองเรือ


เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ฉันได้เดินทางไปหมู่บ้านคลองเรือ อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร เพื่อร่วมงานกับทีมวิจัยโครงการการจัดการความรู้ด้านพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ (พลังงานทางเลือก) ในฐานะสื่อมวลชนทำหน้าที่บันทึกข้อมูลนำมาเผยแพร่สู่สังคม

บริเวณหน้าบ้านพักโฮมสเตย์ของพี่ป่องและพี่อรผู้อารี

แม้จะไม่เคยทำงานด้านนี้มาก่อน แต่ก็ไม่ได้ทำให้ฉันเดือดร้อนลำบากใจ เพราะมีความรักธรรมชาติเป็นทุน และมีผลพลอยได้ด้านความรู้เกี่ยวกับพรรณไม้เป็นกำไร เวลา 3 วัน 2 คืนที่บ้านคลองเรือจึงเปี่ยมล้นไปด้วยความสุข... สุขกายท่ามกลางธรรมชาติอันรื่นรมย์งดงาม และสุขใจในมิตรภาพที่คนคลองเรือหยิบยื่นให้ ชาวบ้านที่นี่มีใบหน้าเปื้อนยิ้มตลอดเวลาแม้บางครั้งจะกรำงานหนัก 
        
พี่ป่องนำชมสวนเกษตรแบบผสมผสานและปอกผลไม้ให้ชิมกันสดๆ

ทุเรียนกำลังติดผล

เตาเผาถ่านภูมิปัญญาชาวบ้าน


หมากคือผลผลิตอย่างหนึ่งของบ้านคลองเรือ

แต่ใช่ว่าคนคลองเรือจะไม่เคยผ่านความทุกข์ยาก อันที่จริงเป็นเพราะพวกเขาได้เรียนรู้จากความล้มเหลวมานับครั้งไม่ถ้วน จนสามารถแปรความผิดพลาดเป็นบทเรียนทรงคุณค่า ผลักดันไปสู่ความเป็นชุมชนเข้มแข็ง สามารถพึ่งตนเองตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และยังเป็นหมู่บ้านต้นแบบให้ชุมชนอื่นๆ ได้มาศึกษาดูงานอีกด้วย

ถนนสายหลักจากโลกภายนอกที่ผ่านกลางหมู่บ้านไปจนสุดชายป่า

วิถีชีวิตสงบงามของชุมชนบ้านคลองเรือ

กล้วยไม้ป่าขึ้นเองตามต้นไม้ในสวน สะท้อนให้เห็นถึงระบบนิเวศที่สมบูรณ์

คนคลองเรือเรียนรู้ว่า... เมื่อป่าต้นน้ำถูกทำลายและเกิดวิกฤติเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำ พวกเขาก็ไม่สามารถยังชีพต่อไปได้ จึงเปลี่ยนบทบาทจากผู้บุกรุกทำลายป่ามาเป็น “ผู้อนุรักษ์” ตามโครงการ "คนอยู่-ป่ายัง" โดยการสนับสนุนของหน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำพะโต๊ะ

น้ำตกเหวตาจันทร์ แหล่งน้ำสำคัญที่ใช้ผลิตประปาภูเขาและไฟฟ้าพลังน้ำ

ฝายชะลอน้ำในป่าต้นน้ำที่ชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจกันสร้างขึ้น

การระดมสมองระหว่างพันธมิตรหลายฝ่าย ทั้งชาวบ้าน ทีมนักวิจัย กฟผ.
รวมทั้งหน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำพะโต๊ะ เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน

คนคลองเรือเรียนรู้ว่า... เมื่อพวกเขาดูแลรักษาป่าต้นน้ำไว้ได้อย่างสมบูรณ์ ธรรมชาติจะมอบสิ่งตอบแทนอันล้ำค่าคือกระแสน้ำฉ่ำเย็นชุ่มแรง ทำให้พวกเขามี “ประปาภูเขา” ไว้ใช้ได้ตลอดทั้งปี และที่ดียิ่งกว่านั้นคือบ้านคลองเรือกำลังจะมี “โรงไฟฟ้าพลังน้ำชุมชน” โดยการสนับสนุนจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

ฝายกั้นน้ำห้วยหินกลมที่ก่อสร้างโดยกรมพัฒนาที่ดินเพื่อการชลประทานสำหรับพื้นที่เกษตร

แนวท่อประปาภูเขาที่ทอดยาวไปถึงท้ายหมู่บ้าน

น้ำใสเย็นฉ่ำผ่านระบบประปาภูเขาที่บ้านคลองเรือมีใช้ตลอดทั้งปี

คนคลองเรือเรียนรู้ว่า... การเกษตรเชิงเดี่ยวนอกจากจะทำลายระบบนิเวศแล้ว ยังส่งผลกระทบกับการครองชีพในยามที่ราคาผลผลิตตกต่ำ พวกเขาจึงหันมาทำการเกษตรแบบผสมผสาน โดยประยุกต์เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้าน จนกลายเป็น "การเกษตร 4 ชั้น” ทำให้สามารถใช้ประโยชน์ที่ดินได้อย่างคุ้มค่า

ชาวบ้านคลองเรือผลัดเวรกันขึ้นไปก่อสร้างแนวท่อส่งน้ำจากฝายต้นน้ำ
มายังโรงไฟฟ้าบนเส้นทางที่ลื่นและลาดชัน

เสาตอม่อระยะทางกว่า 300 เมตร ที่สร้างจากน้ำพักน้ำแรง
และความสามัคคีของคนในชุมชน

กรุ่นกลิ่นกาแฟกับรอยยิ้มจริงใจในบรรยากาศสบายๆ ยามพักกลางวัน

วังปลาที่ชุกชุมและเชื่องมาก เพราะคุ้นเคยกับชาวบ้านและนักท่องเที่ยว
เนื่องจากบ้านคลองเรือเป็นหมู่บ้านโฮมสเตย์ระดับมาตรฐานด้วย

ทุกวันนี้คนคลองเรือจึงมีความสุขและพวกเขายังมีความหวัง... หวังที่จะเป็นแบบอย่างในการเปลี่ยนแปลงโลกให้น่าอยู่กว่าที่เคย หวังว่าชุมชนอื่นๆ จะทำได้อย่างที่พวกเขาทำสำเร็จกันมาแล้ว หวังว่าผลงานของคนกลุ่มเล็กๆ ในอ้อมกอดแห่งขุนเขาพะโต๊ะ จะเป็นแรงผลักดันอันยิ่งใหญ่ไปสู่การทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ก่อให้เกิดกระบวนการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมั่นคงและยั่งยืนในเมืองไทย


เชิญติดตามอีกหนึ่งบทความสีเขียว "คนอยู่-ป่ายัง บทเรียนล้ำค่าจากหยาดเหงื่อและน้ำตาที่บ้านคลองเรือ"

เส้นทางสู่ป่าต้นน้ำที่ค่อนข้างทุลักทุเลยามฝนพรำ

บริเวณน้ำตกเหวตาจันทร์

ฝายต้นน้ำที่ใช้ผลิตประปาภูเขาและโรงไฟฟ้าพลังน้ำชุมชน
ที่กำลังจะเป็นรูปธรรมในอีกไม่นาน

ดงกนกนารีตามทางเดินลัดเลาะแนวป่า สะท้อนความอุดมสมบูรณ์และชุ่มชื้น

สนใจเยี่ยมชมชุมชนพึ่งตนเองบ้านคลองเรือ ติดต่อผู้ใหญ่มนัส คล้ายรุ่ง โทร. 0-89971-6478 หรือนายพงศา ชูแนม หัวหน้าหน่วยอนุรักษ์และจัดการต้นน้ำพะโต๊ะ โทร. 0-81894-1973
ท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โฮมสเตย์หมู่บ้านคลองเรือ ติดต่อครูวัลลภ แสงจันทร์ โทร. 0-87884-5267 หรือนายมานิตย์ โมฬี ประธานกลุ่มท่องเที่ยว โทร. 0-87895-0501

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น