หลังจากที่ไปจอยกับเพื่อนเก่าชาวคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รุ่น JC 3207 พวกเรากลุ่มหนึ่งก็ได้รับการทาบทามจากอาจารย์หนึ่งหทัย ขอผลกลาง (เกียรตินิยมเหรียญทองอันดับหนึ่งที่น่าภาคภูมิใจของรุ่น ซึ่งอุทิศตัวเองเป็นแม่พิมพ์ของชาติ) ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ที่จังหวัดนครราชสีมา ให้ไปถ่ายทอดประสบการณ์ในการทำงานด้านสื่อสารมวลชนแก่นักศึกษานิเทศศาสตร์และผู้สนใจ ในหัวข้อเสวนา "เก็บตกประสบการณ์ สานฝันเป็นจริง"
ฉันเอง (ซึ่งเป็นแขกรับเชิญคนสุดท้าย) ที่รับปากว่าจะไปในตอนแรกก็เพียงแค่อยากเจอะเจอสังสรรค์กับเพื่อนเก่าที่ไม่ได้พบกันมานานเกือบ 20 ปี แต่สุดท้ายต้องตกกระไดพลอยโจนถูกจับขึ้นเวทีกับเขาด้วย (ด้วยความไม่ค่อยสมัครใจ เพราะไม่ชำนาญการพูดในที่สาธารณะเอาซะเลย T^T) อย่างไรก็ตาม ฉันคิดว่าประสบการณ์การทำงานในกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ต่างๆ หลายแห่ง นับแต่สำเร็จการศึกษาจากรั้วแม่โดม จนไต่เต้าขึ้นถึงตำแหน่งบรรณาธิการ กระทั่งพลิกวิถีชีวิตมาเป็นนักเขียนอิสระอย่างในปัจจุบัน น่าจะเป็นประโยชน์แก่น้องๆ ที่ใฝ่ฝันจะเดินทางตามเส้นทางนี้บ้างพอสมควร
อาจารย์หนึ่งหทัยฝากคำถามไว้ให้ทำการบ้านล่วงหน้า ซึ่งฉันคิดว่าเป็นคำถามที่ดีมากๆ จึงน่าจะนำมาเผยแพร่และให้คำตอบไว้ ณ ที่นี้ด้วย เผื่อบางท่านที่สนใจไม่มีโอกาสไปฟังในวันที่ 8 เมษายน (หรือฟังแล้วไม่เคลียร์ เพราะวิทยากรพูดไม่ได้เรื่อง ^^) ก็อาจมาเก็บเกี่ยวเพิ่มเติมได้ที่บล็อกแห่งนี้
ความจริงฉันมีหนังสือเล่มแรกของตัวเองตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมปลาย เล่าคร่าวๆ...ตอนนั้นทางโรงเรียนส่งไปอบรมในโครงการนักเขียนเยาวชน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เคยจัดในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเป็นประจำทุกปี ฉันแต่งนิทานคำกลอนเรื่องหนึ่งและวาดภาพประกอบเองเพราะชอบวาดรูปด้วย ปรากฏว่าผลงานเรื่องนั้นได้รับรางวัลจากการอบรม และมีสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งเอื้อเฟื้อจัดพิมพ์ให้ แน่นอนว่าตอนนั้นภูมิใจมาก แต่พอโตขึ้นแล้วย้อนกลับไปดูก็รู้สึกว่าฝีมือตัวเองไม่ได้เรื่องเลย 555...
ช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยก็เขียนบทกวี (หวานแหววตามวัย ^^) ส่งไปตามนิตยสาร เคยได้ลง 2-3 เล่ม พอเรียนจบก็เข้าทำงานในสำนักพิมพ์ที่ทำหนังสือเด็กและหนังสือห้องสมุดหลายแห่ง เช่น นิวเจนเนอเรชันพับลิชชิง (ผู้จัดการเด็ก) ไทยวัฒนาพานิช ต้นอ้อแกรมมี่ ระหว่างทำงานในกองบรรณาธิการก็เขียนหนังสือขายไปด้วย นอกจากนี้ยังมีงานแปลสารานุกรมชีวิตสัตว์ และเคยแปลวรรณกรรมเยาวชนเล่มหนึ่ง
ก่อนฟองสบู่แตกในยุค IMF ฉันเป็นบรรณาธิการอยู่ที่สำนักพิมพ์เปิดใหม่แห่งหนึ่ง หลังจากเศรษฐกิจล้มครืนเลยไปทำธุรกิจส่วนตัวและมีครอบครัว จนกระทั่งลูกอายุเกือบขวบก็ได้งานบรรณาธิการที่สำนักพิมพ์บรรณกิจ 1991 ทำอยู่ 2 ปีกว่าจึงตัดสินใจลาออกเพื่อดูแลลูกซึ่งกำลังจะเข้าโรงเรียน ประจวบกับต้องย้ายบ้านไปอยู่ชานเมืองด้วย ไม่สะดวกเรื่องการเดินทาง นับแต่นั้นก็ทำธุรกิจส่วนตัวไปพร้อมๆ กับยึดอาชีพนักเขียนอิสระเรื่อยมา
คนที่มีอาชีพอิสระต้องมีวินัยสูงในการทำงาน เพื่อจัดการงานและบริหารรายได้ให้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ยิ่งอาชีพนักเขียนยิ่งดูจะยากกว่าอาชีพอื่นๆ เพราะแม้เราจะขยัน มีวินัยในการทำงาน แต่ถ้าคนอ่านหรือสำนักพิมพ์ไม่ยอมรับ ก็ยากที่จะอยู่ในวิชาชีพนี้ได้อย่างยั่งยืน จะมีวิธีจัดการให้ตนเองอยู่ในแวดวงนักเขียนอิสระอย่างยั่งยืนได้อย่างไร โดยที่รายได้เพียงพอกับรายจ่าย ขณะเดียวกันก็ได้รับการยอมรับจากผู้อ่านและสำนักพิมพ์
"คนที่มีอาชีพอิสระต้องมีวินัยสูงในการทำงาน" เรื่องนี้ถูกต้องที่สุด แม้ฉันจะทำงานที่บ้านและมีเวลาอยู่กับลูกมากกว่าแม่คนอื่นๆ ที่ทำงานนอกบ้าน แต่เจ้าลูกชายก็ยังบ่นให้ฟังบ่อยๆ ว่าวันๆ แม่เอาแต่ทำงาน ไม่ค่อยเล่นกับเขา (ลำบากใจเหมือนกันเพราะการทำงานที่บ้านนี่มันไม่มีเส้นแบ่งเวลาที่ชัดเจน อีกทั้งการเขียนหนังสือก็ต้องใช้อารมณ์ร่วมด้วย บางครั้งไอเดียบรรเจิดตอนลูกกำลังต้องการเราพอดี T^T)
ถ้าคุณมีความรับผิดชอบในงานที่ตัวเองทำ สำนักพิมพ์ย่อมยินดีจะป้อนงานให้คุณหรือรับพิจารณาผลงานของคุณด้วยความเต็มใจ นี่คือเหตุผลที่ฉันสามารถทำงานกับสำนักพิมพ์หลายแห่งที่เคยติดต่อด้วยได้เสมอมา
และถ้าคุณมีความรับผิดชอบในเรื่องที่ตัวเองเขียน (เช่น การค้นคว้าข้อมูลประกอบการเขียนอย่างเอาจริงเอาจัง ร่วมตรวจทานผลงานของตัวเองอย่างเข้มงวด ไม่ใช่โยนให้เป็นหน้าที่ของสำนักพิมพ์แต่เพียงฝ่ายเดียว) คุณย่อมได้รับความชื่นชมและไว้วางใจในฐานะ "นักเขียนคุณภาพ" และเมื่อใดที่คุณก้าวสู่การเป็นนักเขียนคุณภาพแล้วละก็ ผู้อ่านย่อมยอมรับในผลงานของคุณเอง ซึ่งทำให้คุณสามารถอยู่กับอาชีพนี้ได้อย่างยั่งยืน
ผู้ที่อยากเป็นนักเขียนอิสระควรมีคุณสมบัติอย่างไร
ตามคำตอบข้างบน คือ มีวินัย มีความรับผิดชอบ และควรต้องเป็นคนขยันใฝ่หาความรู้ตลอดเวลา พึงระลึกไว้ว่า คนที่เลือกซื้อหนังสือของเราไปอ่าน เพราะเขาต้องการ "รู้" มากขึ้น ดังนั้นคนเขียนจึงจำเป็นต้อง "รู้ให้ลึกกว่า" เสมอ
ปัจจุบันโลกออนไลน์ทำให้การเป็น "นักเขียนอิสระ" ทำได้ง่ายดายกว่าแต่ก่อนมาก เพราะทุกคนมีเสรีภาพในการถ่ายทอดความคิดเห็นของตัวเอง... ซึ่งบางครั้งปราศจากการกลั่นกรองความถูกผิดหรือชั่วดี นี่คือดาบสองคมของเทคโนโลยีที่น่าวิตกเป็นอย่างยิ่ง ฉันคิดว่าสิ่งเดียวที่สามารถควบคุมความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ก็คือ "ความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม" ซึ่งในแวดวงสื่อสารมวลชนเราเรียกว่า "จรรยาบรรณ"
ไม่สำคัญว่าคุณจะร่ำเรียนอะไรมาหรือจะทำงานในสาขาวิชาไหน แต่เมื่อใดก็ตามที่คุณเริ่มถ่ายทอดสิ่งที่คุณ (คิดว่า) รู้ หรือเผยแพร่ความคิดเห็นส่วนตัวออกไปในที่สาธารณะ ไม่ว่าจะทางโลกออนไลน์หรือตามสื่อต่างๆ นั่นคือคุณกำลังก้าวเข้าไปทำหน้าที่ "สื่อสารมวลชน" ซึ่งส่งผลอย่างยิ่งต่อการชี้นำความรู้ความคิดของคนอ่าน - ทรัพยากรที่สำคัญยิ่งของประเทศชาติ ดังนั้น "ความสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม" จึงเป็นภาระใหญ่หลวงที่นักสื่อสารมวลชนทุกคนจำเป็นต้องตระหนักให้ขึ้นใจ
ขอบคุณคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ปลูกฝังสิ่งนี้แก่พวกเรา และทำให้เรามีวันนี้ได้...
มือใหม่อยากเป็นนักเขียนอิสระควรเริ่มต้นอย่างไร
เริ่มด้วยการเขียน และอย่าหยุดเขียน ไม่ว่าคุณจะได้รับการยอมรับจากสำนักพิมพ์หรือผู้อ่านหรือไม่ก็ตาม เมื่อใดที่คุณถอดใจ คุณจะไม่มีวันไปถึงฝั่งฝันได้เลย จงท่องให้ขึ้นใจว่า "คนที่ล้มเหลวคือคนที่ล้มเลิก"
ฉันเคยอ่านเจอในบล็อกของนักเขียนชื่อดังท่านหนึ่ง แฟนคลับคนหนึ่งถามว่า "จะมีวิธีไหนที่ทำให้สามารถเขียนงานได้สำเร็จสมบูรณ์ในครั้งเดียว ไม่ต้องมานั่งแก้ให้เสียเวลา" ฉันอ่านแล้วก็อดคิดในใจไม่ได้ว่า แค่คุณคิดว่าการแก้ไขงานของตัวเองเป็นเรื่อง "เสียเวลา" ก็แทบจะปิดประตูให้กับอาชีพนักเขียนเสียแล้ว
ไม่มีนักเขียนอาชีพคนไหนไม่เคยแก้ไขขัดเกลาผลงานของตัวเอง และบางครั้งไม่ใช่แค่ครั้งสองครั้ง แต่นับสิบๆ ครั้ง ผลงานบางเรื่องฉันเขียนทิ้งไว้ 4-5 ปีแล้วค่อยหยิบขึ้นมาปัดฝุ่น ก็มีเรื่องให้แก้ได้มากมาย บางเล่มทำอาร์ตเวิร์คจนใกล้ขึ้นแท่นพิมพ์แล้ว ยังอยากแก้อยู่เลย (ฮา...)
นอกจากการ "ทบทวน" สิ่งที่ตัวเองเขียนเป็นประจำแล้ว นักเขียนยังจำเป็นต้อง "ใจกว้าง" พร้อมรับฟังคำวิจารณ์หรือการแก้ไขจากทางสำนักพิมพ์หรือผู้อ่านด้วยเสมอ
Connection (ปฏิสัมพันธ์) สำคัญมากน้อยแค่ไหนในอาชีพนี้
สำคัญอย่างยิ่ง สิ่งที่เขียนไว้ด้านบนน่าจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนของคำถามนี้ หากเปรียบเทียบกับการทำธุรกิจ สำนักพิมพ์ก็อาจเปรียบได้กับ "ลูกค้า" คุณจะขายสินค้าของตัวเองได้ก็ต่อเมื่อทำให้ลูกค้าเกิดความประทับใจทั้งในเรื่องคุณภาพและบริการ ^_^
ท้ายนี้ขอแนะนำลิงค์ของคุณตฤณ สุวรรณผา Communications Assistant, Web Producer World Bank, Bangkok Office เพื่อนร่วมรุ่นท่านหนึ่งที่ได้รับเชิญเป็นวิทยากรในครั้งนี้ด้วย เป็นอีกแง่มุมหนึ่งของนักสื่อสารมวลชนที่น่าสนใจมากเลยค่ะ http://www.outtospace.com/a-talk-at-korat/
ชมภาพบรรยากาศวันเสวนากันค่ะ
เช้าวันเดินทางที่หน้า ม. ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
เล่าประสบการณ์ในอาชีพนักเขียนให้น้องๆ ฟัง ร่วมกับแอน-อันนาบี ผู้เขียน "ลิขิตรักสีคราม" (ขวา)
โดยมีด๋อย-ชวิดา วาทินชัย (กลาง) เพื่อนนักข่าวอาวุโสช่อง 9 เป็นผู้ดำเนินรายการ
เป็นพรีเซ็นเตอร์ให้หนังสือของแอนร่วมกับนัท สุมนเตมีย์
ถ่ายรูปร่วมกับน้องๆ
ภาพหมู่กลุ่มวิทยากรสุดฮาที่แย่งกันพูด ^^
มาดวิทยากรจำเป็น
มื้อกลางวันก่อนการเสวนา
สังสรรค์มื้อค่ำ
วันสบายๆ ก่อนเดินทางกลับ
มื้อกลางวันก่อนการเสวนา
รับของที่ระลึกจากรองคณบดี
น้องๆ ที่สนใจพูดคุยซักถามต่อหลังการเสวนา
สังสรรค์มื้อค่ำ
วันสบายๆ ก่อนเดินทางกลับ
แวะไหว้ย่าโมขอให้เดินทางปลอดภัย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น