Translate

หนังสือสำหรับเด็ก... วัยเยาว์กับความฝันที่มีวันเป็นจริง


หลังจากที่ได้รับข่าวดีว่า นิทานคำกลอน "เมืองใหม่ในฝัน" ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์โลกหนังสือเมื่อปีกลาย ได้รับรางวัลชมเชย รักลูกอวอร์ด ครั้งที่ 8 ในปีนี้ (2554) ฉันอดไม่ได้ที่จะรำลึกถึงผลงานหนังสือสำหรับเด็กของตัวเองในช่วงชีวิตที่ผ่านมา...

ในวัยเยาว์... หลายคนคงเคยมีความฝันอยากเป็นนักเขียน ฉันก็เป็นหนึ่งในนั้น ฉันไม่รู้หรอกว่าตัวเอง "เขียนเก่ง" หรือมี "พรสวรรค์" หรือเปล่า รู้แต่ว่าตัวเองชอบเขียน...เขียนกลอน เขียนนิทาน แล้วก็ชอบวาดรูป เคยอยากเรียนต่อทางด้านศิลปะ แต่คิดว่าคงสู้เด็กที่เรียนสายตรงมาไม่ได้ ตอนสอบเอ็นทรานซ์จึงไม่ได้เลือกศิลปากรเลย ในที่สุดก็มาได้ดีจากรั้วแม่โดมแทน


ฉันโชคดีที่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากอาจารย์วิชาภาษาไทย 2 ท่าน คือ อาจารย์จินตนา จริยานนท์ และอาจารย์จงจิต นิมมานนรเทพ ซึ่งฉันเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่ง ตั้งแต่สมัยเรียนชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนเบญจมราชาลัย ท่านคงพอจะเห็นแววรำไรในตัวฉัน อาจารย์จึงส่งฉันเข้าร่วมอบรม "เยาวชนนักเขียน" ที่เคยจัดในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติติดต่อกันนานหลายปี ซึ่งเป็นที่มาของหนังสือเล่มแรกในชีวิต "หมีน้อยผู้อารี" นิทานคำกลอนที่ฉันเขียนและวาดรูปเอง เป็นผลงานจากการอบรมที่ผู้ใหญ่ใจดีมองเห็นคุณค่าและนำไปจัดพิมพ์ให้... นั่นอาจเป็นจุดที่ทำให้ความฝันในวัยเยาว์เริ่มหยั่งราก ค่อยๆ ผลิใบงดงาม และเติบโตแข็งแรงมาเป็นฉันในทุกวันนี้

เมื่อเรียนจบจากคณะวารสารศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ฉันเริ่มทำงานในสำนักพิมพ์ที่ผลิตหนังสือสำหรับเด็ก แห่งแรกคือบริษัท นิวเจนเนอเรชันพับลิชชิง ในเครือผู้จัดการ หลังจากนั้นย้ายไปที่ไทยวัฒนาพานิช ซึ่งได้ร่วมงานกับคุณพีระพล ธนะพานิช บรรณาธิการที่ถ่ายทอดความรู้และแนวคิดดีๆ ให้ฉันมากมาย ระหว่างที่ฉันทำงานในกองบรรณาธิการ ก็ได้ขายต้นฉบับนิทานให้ที่นี่ตีพิมพ์หลายเล่ม และได้แปลสารานุกรมชีวิตสัตว์ชุดหนึ่ง



ต่อมาฉันย้ายไปทำงานที่บริษัท ต้นอ้อแกรมมี่ ระหว่างนั้นได้ขายลิขสิทธิ์หนังสือ "การเลี้ยงแฮมสเตอร์" ให้ตีพิมพ์ เชื่อว่าเป็นหนังสือแฮมสเตอร์เล่มแรกของไทย และได้แปลวรรณกรรมเยาวชนเล่มหนึ่ง เรื่อง "ก๊วนทโมน"

 

หลังจากนั้นได้มีผู้ทาบทามให้ไปเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์เปิดใหม่แห่งหนึ่ง แต่ทำได้ไม่นานประเทศไทยก็เผชิญวิกฤติฟองสบู่แตกในยุคไอเอ็มเอฟ เมื่อสำนักพิมพ์ปิดตัวลงฉันจึงจำต้องหันไปประกอบอาชีพอิสระ กลายเป็นแม่ค้าเฟินในตลาดนัดจตุจักร นับเป็นจุดเริ่มต้นให้หันเหไปเขียนหนังสือเกี่ยวกับต้นไม้


ต่อมาประมาณปี 2545 ได้กลับไปทำงานเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์บรรณกิจ และขายลิขสิทธิ์นิทานให้ตีพิมพ์ 2 เรื่องคือ "ตุ้บตั้บกับดวงดาว" และ "หุ่นไล่กาเพื่อนรัก" ซึ่งได้รางวัลชมเชยจากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี 2546 และขายลิขสิทธิ์วรรณกรรมเยาวชนเล่มหนึ่งเรื่อง "ลูกหยีกับผีน้อย" ทั้งสามเล่มใช้นามปากกา "ปุณยวีร์" ซึ่งเป็นชื่อลูกชาย


ประมาณปี 2547 ฉันตัดสินใจลาออกจากงานมาเป็นนักเขียนอิสระเต็มตัว 


ปี 2548 ขายลิขสิทธิ์ "จ๊ะเอ๋ ธรรมชาติแสนอัศจรรย์" และ "อู้ฮู สวนสัตว์หรรษา" ซึ่งเป็นหนังสือภาพชีวิตสัตว์และธรรมชาติให้สำนักพิมพ์บรรณกิจ

นอกจากนี้ยังมีหนังสือภาพเกี่ยวกับสัตว์ที่ขายลิขสิทธิ์ให้สำนักพิมพ์ผักแว่นในเวลาไล่เลี่ยกัน ได้แก่ ก้นใครเอ่ย? หน้าใครเอ่ย? ลายใครเอ่ย? อาหารใครเอ่ย? และ นี่ตัวอะไร? ทั้งหมดฉันเขียน ถ่ายรูป วาดภาพประกอบ และออกแบบรูปเล่มเอง




ปี 2548 ขายลิขสิทธิ์นิทานคำกลอน "ดนตรีไทยใจหรรษา" ให้สำนักพิมพ์ผักแว่น ซึ่งได้รางวัลชมเชยจากการประกวดหนังสือดีเด่น ประจำปี 2549 เล่มนี้เขียนตามคอนเซ็ปต์ของสำนักพิมพ์เนื่องจากในช่วงนั้นภาพยนตร์เรื่องโหมโรงกำลังดัง


ปี 2549 ขายลิขสิทธิ์นิทาน "ไปเดินเล่น" และ "บ้านนี้เหมือนฝันกลางเมือง" ซึ่งเขียนและวาดภาพประกอบเองให้สำนักพิมพ์บรรณกิจ ซึ่งได้รับเลือกไว้ใน "หนังสือคัดสรร 108 หนังสือดี เปิดหน้าต่างแห่งโอกาสในการพัฒนาเด็กปฐมวัย" โดยแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน เมื่อปี 2553


ในปี 2549 สำนักพิมพ์บ้านและสวนยังได้ตีพิมพ์ "ปลูกเฟินอย่างมืออาชีพ" ซึ่งเป็นหนังสือเฟินเล่มแรกในชีวิต หลังจากนั้นก็มีงานเขียนหนังสือเกี่ยวกับพรรณไม้ประดับต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เฉลี่ยปีละ 1 เล่ม นอกจากนี้ยังมีงานเขียนคอลัมน์ประจำในนิตยสารสุขสโมสร และ Go Green และงานพิเศษจากบริษัทรักลูกเอ็ดดูเท็กซ์ ที่ทำเกี่ยวกับพิพิธภัณฑ์ ทั้งยังต้องดูแลสวนภัทราการ์เด้นที่ก่อร่างด้วยน้ำพักน้ำแรงมานานกว่า 10 ปี จนไม่มีเวลาที่จะกลับไปเขียนหนังสือเด็กอีกเลย แต่มีโครงเรื่องที่วางไว้ในใจอยู่มากมาย...

ฉันหวังว่าสักวันจะสามารถจัดสรรเวลาได้ลงตัวกว่านี้ เพื่อกลับไปทำงานที่ตัวเองรัก แม้ว่าความฝันสู่เส้นทางนักเขียนจะเป็นจริงสมใจแล้ว แต่ยังมีทางอีกยาวไกลท้าทายให้ก้าวเดินต่อไป ตราบเท่าที่เรายังมีไฟ ความฝันย่อมไม่มีวันสิ้นสุด...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น