Translate

รักษ์อ่าวไทย ร่วมปกป้องขุมทรัพย์ทะเลไทย


ปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา มีการจัดกิจกรรมนำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่สำรวจทรัพยากรชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนบน หรือที่เรียกกันว่า อ่าว ก ไก่ ตามลักษณะทางภูมิประเทศ ในโครงการสื่อสารสุขภาพชุมชนชายชอบ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อบันทึกข้อมูลและภาพความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลอ่าวไทยมาเผยแพร่สู่สาธารณชน


อ่าวไทยในอดีตเคยเป็นทะเลสาบขนาดยักษ์คล้ายทะเลสาบสงขลา เมื่อระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจึงกลายเป็นปากอ่าวทางออกของแม่น้ำสำคัญ 4 สาย คือ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำแม่กลอง ซึ่งพัดพาสารอาหารธรรมชาติมาด้วย ทำให้อ่าวไทยเป็นแหล่งประมงที่อุดมสมบูรณ์ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งนกอพยพและป่าชายเลนที่สำคัญ องค์การยูเนสโกเคยสำรวจและบันทึกว่าอ่าวไทยเป็น 1 ใน 17 อ่าวที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในโลก ปัจจุบันยังพบว่าเป็นแหล่งอาศัยหากินของวาฬบรูด้าที่เคยพบพร้อมกันมากกว่าสิบตัว

ผู้ใหญ่หมูกำลังอธิบายเส้นทางสำรวจในทริปนี้

อ่าวไทยตอนบนมีลักษณะทางภูมิศาสตร์คล้ายรูป ก ไก่



คณะสื่อมวลชนออกเดินทางจากศูนย์เรียนรู้และปฏิบัติการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาชัยฝั่งตะวันออก ซึ่งริเริ่มก่อตั้งโดยนายวรพล ดวงล้อมจันทร์ (ผู้ใหญ่หมู) อดีตผู้ใหญ่บ้านหมู่ 3 ตำบลโคกขาม อำเภอเมือง สมุทรสาคร ด้วยเรือเร็วของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งซึ่งร่วมประสานงานอำนวยความสะดวก เป้าหมายแรกคือการล่องเรือชมป่าชายเลนที่ชาวบ้านช่วยกันปลูกเพิ่มและดูแลรักษาไว้


ตำบลโคกขามเป็น 1 ใน 3 ของพื้นที่วิกฤติชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน เนื่องจากประสบปัญหาแผ่นดินถูกคลื่นกัดเซาะอย่างรุนแรง อีก 2 แห่งคือบริเวณบ้านขุนสมุทรจีน สมุทรปราการ และชายทะเลบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ชาวบ้านในชุมชนดังกล่าวส่วนมากยึดอาชีพประมงพื้นบ้าน สืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย จึงมีจิตสำนึกรักและหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติในบ้านเกิด ในอดีตโคกขามเคยมีพื้นที่ป่าชายเลนมากถึงหนึ่งแสนไร่ แต่ปัจจุบันเหลืออยู่แค่ประมาณ 400 ไร่เท่านั้น พื้นดินซึ่งเคยเป็นที่ตั้งบ้านเรือนถูกกัดเซาะหายไปเป็นกิโลเมตร ปัญหาดังกล่าวไม่ใช่แค่เพียงการสูญเสียแผ่นดิน แต่ยังส่งผลกระทบถึงการลดปริมาณของสัตว์ทะเลที่เป็นแหล่งอาหารและรายได้หลักของชุมชน แม้ที่ผ่านมาจะได้รับความสนใจจากภาครัฐอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่มีการแก้ปัญหาอย่างจริงจังเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังถูกมองว่าเป็นภัยธรรมชาติที่แก้ไขยาก

แนวไม้ไผ่ชะลอคลื่น

ในที่สุดชาวบ้านจึงรวมตัวกันโดยการนำของผู้ใหญ่หมู พยายามศึกษาวิจัยด้วยตนเอง นำหลักวิชาการมาผสานกับภูมิปัญญาพื้นบ้าน จนเกิดเป็น “แนวรั้วไม้ไผ่ชะลอคลื่น” ซึ่งเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2550 ด้วยวิธีปักไม้ไผ่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 นิ้ว ยาว 6 เมตร ลงในทะเลเป็นรูปสามเหลี่ยม หันด้านแหลมออกรับคลื่น ปักเป็นแนวสลับกัน 4 แถว ระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร เพื่อช่วยลดความแรงของคลื่นที่ซัดเข้าสู่ฝั่ง  ขณะเดียวกันเมื่อคลื่นม้วนตัวกลับสู่ทะเล แนวไม้ไผ่ยังช่วยดักตะกอนดินเลนเอาไว้ เพียงแค่ 2 ปีก็มีตะกอนสะสมถึง 1.5 เมตร ทำให้ชาวบ้านสามารถปลูกป่าชายเลน เช่น ต้นแสม โกงกาง ลำพู เพื่อช่วยยึดดินเลนให้งอกเป็นแผ่นดินต่อไปได้ ทั้งยังเป็นบ้านให้สัตว์ทะเลกลับมาอาศัยพักพิง ชาวบ้านจึงมีรายได้จากการทำประมงเพิ่มขึ้น


เมื่อเดือนกรกฎาคม 2552 มีการก่อตั้ง “เครือข่ายรักษ์อ่าวไทยตอนบน” ประกอบด้วยสมาชิกจากชุมชนชายฝั่งที่มีสภาพทางภูมิศาสตร์คล้ายคลึงกัน 6 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี  ซึ่งได้รับผลกระทบจากปัญหาธรรมชาติ ปัญหานโยบายภาครัฐ และปัญหาความไม่เป็นธรรมในสังคม โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์ ปกป้อง และจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยคำนึงถึงสิทธิชุมชนเป็นหลัก มีนายวรพล ดวงล้อมจันทร์ เป็นผู้ประสานงานเครือข่าย สำนักงานอยู่ที่ศูนย์เรียนรู้ฯ มหาชัยฝั่งตะวันออก


แวะชมการเก็บหอยลายและหอยแครง


ชาวประมงสวมหน้ากากดำน้ำที่ต่อกับเครื่องปั๊มอากาศบนเรือแบบภูมิปัญญาพื้นบ้าน

ประมงพื้นบ้านที่มีวิถีชีวิตถ้อยทีถ้อยอาศัยกับธรรมชาติ
เก็บแค่พออยู่พอกิน ไม่เบียดเบียนมากเกินไป

ฟาร์มเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่






หลังจากสำรวจป่าชายเลน เรือก็พาคณะสื่อมวลชนบ่ายหน้าสู่ทะเลฝั่งตะวันตกเพื่อชมวิถีชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน เราได้แวะเทียบเรือปั๊มชมการเก็บหอยลายและหอยแครง ชมฟาร์มเพาะเลี้ยงหอยแมลงภู่กลางทะเลอ่าวไทยซึ่งน่าตื่นตาตื่นใจ เสียแต่ว่าหอยที่เห็นตัวเล็กไปหน่อย ชาวประมงอธิบายว่าช่วงนี้ต้องรีบเก็บหอยตั้งแต่ยังเล็กก่อนที่หอยจะตายเพราะ “น็อคน้ำ” เนื่องจากน้ำเหนือที่ไหลทะลักลงทะเลเป็นปริมาณมหาศาลทำให้สัตว์ทะเลหลายชนิดปรับตัวไม่ทัน ก่อนหน้านี้มีสัตว์ทะเลล้มตายเป็นเบือแล้ว หอยตัวเล็กๆ ขายได้แค่เป็นอาหารสัตว์ แต่ก็ยังดีกว่าปล่อยให้ตายโดยไม่ได้อะไรเลย นี่คือภาวะวิกฤติอีกประการหนึ่งที่ชาวประมงอ่าวไทยจำต้องเผชิญ


โป๊ะปลาทู






เป้าหมายสุดท้ายของเราคือการแวะชมโป๊ะปลาทูที่ปากอ่าวแม่กลอง ซึ่งเป็นการทำประมงแบบภูมิปัญญาพื้นบ้าน โดยปักไม้ไผ่ล้อมเป็นทางบังคับให้ปลาทูว่ายผ่านเข้าไปด้านในโป๊ะ ก่อนกู้จับด้วยความละมุนละม่อม ไม่บอบช้ำ ในอดีตแม่กลองมีโป๊ะปลาทูนับร้อย แต่ปัจจุบันเหลือเพียงไม่กี่แห่งที่ยังยืนหยัดอนุรักษ์ไว้เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของคนรุ่นหลัง เนื่องจากการทำโป๊ะต้องใช้เงินลงทุนสูง แต่ผลผลิตที่ได้กลับน้อยกว่าประมงสมัยใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีช่วยให้จับปลาได้มาก แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้สูญเสียทรัพยากรมากตามไปด้วย ปลาทูแม่กลองขึ้นชื่อในเรื่องความสด มัน อร่อย โดยเฉพาะปลาทูโป๊ะยอมรับกันว่ามีรสชาติอร่อยกว่าปลาทูที่จับด้วยวิธีอื่น


ทิวทัศน์เมื่อเรือใกล้ถึงฝั่งเพชรบุรี

หาดเจ้าสำราญยามเย็น

หาดเจ้าสำราญยามเช้า

วิถีชีวิตเรียบง่ายสงบงามของชาวประมงพื้นบ้าน



ผักบุ้งทะเลแย้มบานรับแสงแดดยามเช้าหน้าหาด


เมื่อเสร็จสิ้นการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ของอ่าวไทย คณะสื่อมวลชนก็มุ่งหน้าสู่หาดเจ้าสำราญ เพชรบุรี เพื่อเข้าที่พักรับรองก่อนเริ่มงานใหม่ในวันรุ่งขึ้น คือการล้อมวงเสวนาเกี่ยวกับบทบาทของรัฐและชุมชนในการอนุรักษ์อ่าวไทย โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ได้แก่ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และนายวรพล ดวงล้อมจันทร์ สำหรับประเด็นที่สื่อมวลชนพุ่งเป้าความสนใจมากที่สุดคือโครงการถมทะเลอ่าวไทยซึ่งเล่าลือกันมานาน แต่สุดท้ายก็ยังหาข้อสรุปที่ชัดเจนไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ดร. ธรณ์มีความเห็นว่าโครงการดังกล่าวมีความเป็นไปได้ยาก แต่หากเกิดขึ้นจริงจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อระบบนิเวศ ชุมชน และทรัพยากรธรรมชาติในอ่าวไทย


ดร. ธรณ์เสวนาอย่างออกรส ช่วยให้บรรยากาศไม่เคร่งเครียดเกินไป

ผู้ใหญ่หมู และ ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี



คุยกับชาวบ้านที่ได้รับความไม่เป็นธรรมเรื่องพื้นที่ชายฝั่ง
ซึ่งเคยใช้ทำมาหากินตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย


ติดต่อเครือข่ายรักษ์อ่าวไทยตอนบน โทร. 08-1981-1838  email: rak_gulf@yahoo.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น