Translate

Adiantum tenerum cv. Peacock


          Adiantum tenerum cv. Peacock เป็นเฟินก้านดำที่มีผู้นำเข้าจากอินโดนีเซียในยุคแรกๆ นับเป็นเฟินที่เป็นปริศนา เพราะเราไม่สามารถหาข้อมูลใดๆ เกี่ยวกับเฟินชนิดนี้ในวงการเฟินสากลได้เลย ชื่อ Peacock คือชื่อทางการค้าในเมืองไทย ซึ่งต่อมาบางคนเรียกเป็นชื่อไทยว่า "เฟินก้านดำหางนกยูง"



          จากประสบการณ์ของเรา เฟินก้านดำที่มีลักษณะการเรียงตัวของใบย่อยแบบ "หางนกยูง" มีอยู่ 4 ชนิด ภาพด้านบนคือชนิดที่พบเห็นทั่วไป



          ส่วนต้นนี้ช่อใบยาวและใบย่อยเรียงตัวห่างกว่า ไม่แน่ใจว่ากลายพันธุ์จากชนิดแรกหรือเปล่า เพราะก่อนหน้านี้ (ที่ขายไปเยอะ) ก็ไม่เคยสังเกต แต่ตอนนี้เห็นอยู่ต้นเดียวในสวน




          ชนิดนี้เป็นเฟินรุ่นแรกๆ ที่เราได้มานานหลายปีแล้ว ยังไม่เคยตั้งชื่อเป็นทางการ ได้แต่เรียกว่า "หางนกยูงก้านยาว" บ้าง "หางนกยูงใบห่าง" บ้าง ไม่แน่ใจว่ากลายพันธุ์มาจากชนิดแรกหรือเปล่า



          ชนิดล่าสุด คือ Adiantum tenerum cv. Sexy Pink ซึ่งคุณแซมเพิ่งนำเข้าจากอินโดนีเซียเมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว จุดเด่นคือยอดอ่อนสีชมพูใสปิ๊งสมชื่อ

          อาจารย์หม่อมหลวงจารุพันธ์ ทองแถม เคยเล่าให้เราฟังว่าคนอินโดทำเฟินลูกผสมได้เยอะ แถมยังทำกันง่ายๆ โดยจับสปอร์ผสมกันแล้วนำไปเพาะ อย่างที่เราเคยเล่าไว้ในเรื่อง ชมสวนเฟินก้านดำในอินโดนีเชีย คนไทยนำเข้าเฟินจากอินโดนีเชียมากที่สุด ในช่วงไม่เกิน 5 ปีมานี้เราพบว่ามีเฟินก้านดำแปลกใหม่หลายชนิดที่ไม่เคยเห็นมาก่อน และไม่สามารถหาข้อมูลได้ทั้งจากตำรับตำราและทางอินเตอร์เน็ต เชื่อว่าเป็นผลผลิตรุ่นใหม่ของพี่อินโดฝีมือขั้นเซียน เสียอย่างเดียวที่พี่แกไม่ค่อยนิยมตั้งชื่อเฟินเป็นเรื่องเป็นราว แถมได้ยินมาว่าเฟินบางชนิดยังมาเรียกชื่อตามพี่ไทยซะอีก! ทีนี้เลยไม่รู้ว่าจะเชื่อใครดีล่ะนี่...

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น